วันอังคารที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2555

66: ภูดานไห บ้านในทางธรรมของข้าพเจ้า




[quote=chomdham;5645545]
ภูดานไห
ภูดานไห เป็นภูเล็ก ๆ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นผลาญหิน ไม้ที่จะขึ้นได้ส่วนใหญ่ต้องเป็นไม้ทนแล้ง เช่นไม้รัง ไม้ล้านเศร้า (ไม้เปลือยชนิดหนึ่ง) ไม้ข่อยดาน ไม้มะกอกเลื่อม ไม้แดง ไม้ประดู่ ไม้อล่าง ไม้กะบก ไม้จันทน์ผา และกล้วยไม้บางชนิด หน้าร้อนร้อนพอทน หน้าฝนฝนตกพอให้ชาวนาได้ปลูกข้าวไม่ถึงกับแล้ง ไม่ถึงกับท่วม พอดีๆ หน้านี้หน้าหนาวกลางคืนอากาศหนาวลมแรง กลางวันอากาศร้อน อากาศที่ภูดานไหขณะนี้กำลังดี เย็นสบาย ๆ ไม้รัง ไม้ล้านเศร้า กำลัง ผลิดอก ออกใบ ใบรังกำลังเติบใหญ่ สีแดงสด บงบอกถึงความสดใส เจริญงอกงาม เหมือนรอคอยการมาเยือนของญาติธรรมผู้ใฝ่บุญในกาลไม่นานนี้ นกป่านาๆ ชนิด ส่งเสียงร้องสดใสน่าบันเทิงใจ เหมือนดีใจที่รู้ว่าที่นี่จะเป็นสถานที่บำเพ็ญบุญกุศล อยู่ใกล้แล้วมีความสุขอบอุ่นใจ กลางวันตามปกติจะมีญาติโยม ผู้เฒ่าผู้แก่ หญิงชายต่างพากันกุลีกุจอ ช่วยกันปัดกวาดถากถางหญ้า ปลูกต้นไม้ ทำความสะอาดบริเวณวัด มองดูแล้วน่าอนุโมทนาในกุศลเจตนาของคุณตาคุณยายทั้งหลายเหล่านี้ ทุกคนต่างมีจุดมุ่งหมายอันเดียวกันคือ ได้สนองงานพ่อแม่ครูอาจารย์ ทำบุญกับท่าน เอาบุญกับท่าน ช่วยเป็นส่วนหนึ่งในการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา โดยมีแม่งานคือ อุบาสิกาบุญชม ช่วยทั้งกำลังกาย ทั้งความคิด ช่วยประสานงานทุกอย่างให้งานทุกชิ้นสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี แต่ที่สำคัญก็คือทุกๆ คน คือคนสำคัญที่จะทำให้สถานที่นี้ได้เป็นพุทธสถาน คือสถานที่ที่พวกเราชาวพุทธจะได้ใช้เป็นสถานที่ประพฤติปฏิบัติธรรม สั่งสมบุญบารมี เพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์ร่วมกัน ขออนุโมทนาในกุศลเจตนาทุกท่าน ไม่ว่าคนอยู่ใกล้ ไม่ว่าคนอยู่ไกล และเหล่านักรบธรรม (นรธ.)ทุกๆ ท่านที่มีส่วนช่วยในการสร้างวัดวาศาสนา ช่วยกันเป็นกำลังร่วมก่อสร้างถาวรวัตถุในทางพระพุทธศาสนา ให้เกิดขึ้นมีขึ้น ในวัดภูดานไหแห่งนี้ สิ่งที่พวกเราได้ทำไม่ใช่ทำให้ใครคนใดคนหนึ่ง แต่เรา กำลังทำให้พระศาสนา ทำเพื่อบูชาพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ฝากความดีไว้ให้กับพระศาสนา ให้กับโลก ให้ลูกหลานชาวพุทธที่อยู่ข้างหลังที่กำลังจะกำเนิดเติบใหญ่ตามมา ได้ใช้เป็นที่ บำเพ็ญบุญ ใครจะรู้ว่าต่อไปในภายภาคหน้าอาจจะมีพระอริยะเจ้าเกิดขึ้นในสถานที่ ที่พวกเราได้พากันสร้าง ณ ที่แห่งนี้ อาจเป็นไปได้ ถึงกระนั้นแม้จะมีผู้มาปฏิบัติ มีการให้ทาน รักษาศีล ไหว้พระสวดมนต์ เจริญเมตตาภาวนา ชำระกิเลสในใจของตน สิ่งเหล่านี้ก็นับว่าเป็นบุญของพวกเราแล้ว ที่ได้ร่วมกันก่อตั้งสถานที่ปฏิบัติธรรมที่นี่ขึ้นมา

ขอเจริญในธรรม
[/quote]
กราบขอบพระคุณและโมทนาสาธุท่าน chomdham ที่กรุณานำภาพและพรรณาภูดานไหให้เห็นภาพแจ่มชัดยิ่ง...
ทำให้ข้าพเจ้าอดไม่ได้ที่จักพรรณาความในใจออกมาเช่นกันครับ

"ภูดานไห บ้านในทางธรรมของข้าพเจ้า"

องค์พ่อแม่ครูอาจารย์ท่านเปรียบเหมือนพ่อแม่ในทางธรรม ที่คอยชี้แนะแนวทาง/ขนาบให้ลูกๆได้เดินตรงตามรอยธรรม
พุทธสถานภูดานไหนั่นเล่า เปรียบเหมือนบ้านในทางธรรม ที่แสนอบอุ่น อบอุ่นทั้งสภาวะธรรม ทั้งสภาวะแวดล้อม (สัปปายะ)
อบอุ่นทั้งจากคุณแม่ชม คุณตา คุณยาย คุณพี่ คุณน้อง ที่เฝ้าคอยการกลับบ้านของเหล่านักรบธรรมอยู่เสมอๆ

วาระการมาร่วมฟังธรรม ศึกษาธรรม ปฏิบัติธรรม ที่ภูดานไห โดยเฉลี่ยอยู่ที่เดือนละหนึ่งครั้ง
แต่ละครั้งอาจจะหนึ่งคืน สองคืน หรือมากกว่า ตามโอกาสอำนวย ระหว่างที่อยู่ที่วัดก็เข้าสู่วิถีแห่งการปฏิบัติในทันที...
ก็เพราะเวลาของเรานั้นมีน้อยนัก น้อยทั้งเวลาที่อยู่ภูดานไห น้อยทั้งชีวิตอันแสนสั้น จึงต้องเร่งรีบ...
รีบทั้งอาการใส่ใจในธรรมอย่างมีสติ รีบทั้งอาการใส่ใจในการดำเนินรอยตามปฏิปทาอันเป็นของละเอียด

ผู้ที่จักเรียกได้ว่าศิษย์สายพระกัมมัฏฐานที่แท้จริง จึงไม่ใช่แต่เพียงทำบุญ ฟังธรรม ปฏิบัติธรรม บำเพ็ญภาวนาได้เท่านั้น!
"ปฏิปทา" ขององค์ท่านกลับเป็นสิ่งสำคัญยิ่งนัก เรา นรธ.จึงควรคอยศึกษาเรียนรู้และปฏิบัติตาม
เพราะสิ่งนี้...จักเป็นแม่แบบที่สะท้อนถึงครูบาอาจารย์...กว่าท่านจักยอมรับศิษย์ที่แท้จริงได้ในแต่ละคนนั้นไม่ใช่ของง่าย
ข้าพเจ้าเองก็ยังมิบังอาจ อาจเอื้อมไปขนาดนั้น เพราะรู้ปฏิปทาของตนยังอ่อนด้อยและห่างไกลอยู่
จึงเป็นได้แต่เพียงผู้กำลังศึกษาตามแนวทางธรรมที่กล่าวมาข้างต้น หรือเตรียมอนุบาลก็คงไม่ผิดจากความจริงนัก

แต่แม้ว่าเวลาจะน้อยปานใด ดูเหมือนจะยังไม่ค่อยอิ่มดีนัก ก็ได้เวลากลับบ้านในทางโลกเสียแล้ว
พอกลับมาบ้าน ก็สังเกตุเห็นว่า นรธ.ส่วนใหญ่จะมีอะไรดีๆกลับมาโดยอัตโนมัติ (หากเฝ้าสังเกตุ)
กล่าวคือ ดูเหมือนเราได้รับพลังแฝงอะไรบางอย่างมาด้วย (ท่านพิเชฐ) การปฏิบัติก็มีความเพียรคอยขยับขึ้นไปเรื่อยๆ

องค์พ่อแม่ครูอาจารย์ตักเตือนเสมอว่า "ไม่ใช่ว่าให้มาเคร่งครัดเฉพาะเวลาที่อยู่กับท่านนะ ต้องทำให้ได้แม้จะอยู่ห่างไกลกัน"
สิ่งนี้ผมเฝ้าตระหนักเสมอ แต่ก็หลุดได้เสมอเช่นกัน หึหึ

ดังนั้น "ปฏิปทา" จึงควรเป็นไปตามปกติวิสัย ทั้งยามที่มีท่านและยามที่ไม่มีท่าน
จึงจักเรียกตนเองได้ว่าเป็นนักรบธรรมหรือ "พุทธบุตร" อย่างเต็มภาคภูมิ

ขอให้มีกำลังเจริญในธรรม