วันพฤหัสบดีที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

107: ประวัติพระอานนท์เถระ

ประวัติพระอานนท์เถระ

เอตทัคคะในทางผู้เป็นพหูสูต

พระอานนท์ พระราชโอรสของพระสุกโกทนะ ผู้เป็นพระอนุชาของพระเจ้าสุทโธทนะ พระมารดา พระนามว่า พระนางกีสาโคตมี พระเถระท่านมีศักดิ์เป็นพระอนุชาของพระบรมศาสดา (พระราชโอรสของพระเจ้าอา) เมื่อสมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสรู้แล้ว ในพรรษาที่ ๒ ได้เสด็จกลับไปโปรดพระพุทธบิดา และพระประยูรญาติวงศ์ศากยะ ณ นครกบิลพัศดุ์ ในครั้งนั้น บรรดาศากยราชิกูลได้ทรงเลื่อมใสศรัทธา ต่างได้ถวายพระโอรสของตนให้ออกบวชตามเสด็จ ยังเหลือแต่ศากยกุมารเหล่านี้ คือ เจ้าชายมหานามะ เจ้าชายอนุรุทธะ เจ้าชายภัททิยะ เจ้าชายภัคคุ เจ้าชายกิมพิละ เจ้าชายอานนท์ และเจ้าชายเทวทัต ครั้นพระพุทธองค์ประทับอยู่กรุงกบิลพัศดุ์พอสมควรแก่กาล แล้วก็เสด็จจาริกต่อไปยังที่อื่น

ศากยกุมารเหล่านี้ได้ถูกพระประยูรญาติวิจารณ์ว่า เหตุที่ไม่ออกผนวชตามเสด็จนั้น คงจะไม่ถือว่าตนเองเป็นพระประยูรญาติของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากระมัง เจ้าชายมหานามะได้ฟังดังนั้นเกิดละอายพระทัย จึงได้ไปปรึกษากับเจ้าชายอื่นๆ ในที่สุดตกลงกันว่าจะออกผนวชตามเสด็จ โดยเจ้าชายมหานามะไม่อาจบวชได้ เนื่องจากจะต้องเป็นกษัตริย์ต่อไป จึงให้พระอนุชาคือเจ้าชายอนุรุทธะออกผนวชแทน ศากยกุมารทั้ง 6 องค์ มีพระอานนท์ เป็นต้นรวมทั้งอุบาลี ซึ่งเป็นกัลบก(ช่างตัดผม ช่างโกนผม) รวมเป็น 7 ท่าน ได้ตามเสด็จพระพุทธองค์ เพื่อขอบรรพชาอุปสมบท และได้เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าที่อนุปิยอัมพวัน เขตอนุปิยนิคม แคว้นมัลละ แล้ว กราบทูลว่า

“พระพุทธเจ้าข้า พวกหม่อมฉันเป็นเจ้าศากยะยังมีมานะ ความถือตัวอยู่ อุบาลีผู้นี้เป็น นายภูษามาลา เป็นผู้รับใช้ของหม่อมฉันมานาน ขอพระผู้มีพระภาคจงให้อุบาลีผู้เป็นภูษามาลานี้บวชก่อนเถิด พวกหม่อมฉันจักทำการอภิวาท ลุกรับ อัญชลีกรรม สามีจิกรรม แก่อุบาลีผู้เป็นภูษามาลานี้ เมื่อเป็นอย่างนี้ ความถือตัวว่าเป็นศากยะ ของพวกหม่อมฉันผู้เป็นศากยะจักเสื่อมคลายลง” ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคโปรดให้อุบาลีผู้เป็นภูษามาลาบวชก่อน ให้ศากยกุมารเหล่านั้นผนวชต่อในภายหลัง พระอุปัชฌายะของท่าน พระอานนท์ ชื่อพระเวลัฏฐสีสเถระ

ในช่วงปฐมโพธิกาลหลังจากตรัสรู้แล้ว ๒๐ พรรษานั้น ยังไม่มีพระภิกษุใดปฏิบัติรับใช้พระพุทธองค์เป็นประจำ มีแต่พระภิกษุผลัดเปลี่ยนวาระกันปฏิบัติ เช่น พระนาคสมาละ พระนาคิตะ พระอุปวาณะ พระสาคตะ และพระเมฆิยะ เป็นต้น บางคราวการผลัดเปลี่ยนบกพร่ององค์ที่ปฏิบัติอยู่ออกไป แต่องค์ใหม่ยังไม่มาแทน ทำให้พระพุทธองค์ต้องประทับอยู่ตามลำพังขาดผู้ปฏิบัติ บางครั้งพระภิกษุผู้ปฏิบัติ ก็ดื้อดึงขัดรับสั่งของพระพุทธองค์ เช่น ครั้งหนึ่ง เป็นวาระของพระนาคสมาลเถระ ท่านได้ตามเสด็จพระพุทธองค์ไปทางไกลพอถึงทาง ๒ แพร่ง พระเถระกราบทูลว่า

“ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ขอพระองค์เสด็จไปทางนี้เถิด พระเจ้าข้า”
“อย่าเลย นาคสมาละ ไปอีกทางหนึ่งจะดีกว่า”

พระนาคสมาละ ไม่ยอมเชื่อฟังพระดำรัส ขอแยกทางกับพระพุทธองค์ ทำท่าจะวางบาตรและจีวรของพระผู้มีพระภาคที่พื้นดิน พระพุทธองค์จึงตรัสว่า
“นาคสมาละ เธอจงส่งบาตรและจีวรมาให้ตถาคตเถิด”

พระนาคสมาละ ถวายบาตรและจีวรแด่พระพุทธองค์แล้วแยกทางเดินไปตามที่ตนต้องการ ไปได้ไม่ไกลนักก็ถูกพวกโจรทำร้ายจนศีรษะแตก แล้วแย่งชิงเอาบาตรและจีวรไป ทั้งที่เลือดอาบหน้ารีบกลับมาเฝ้าพระบรมศาสดา กราบทูลเล่าเรื่องให้ทรงทราบ พระพุทธองค์จึงตรัสว่า

“อย่าเสียใจไปเลย นาคสมาละ ตถาคตห้ามเธอก็เพราะเหตุนี้”

พระพุทธองค์ ได้รับความลำบากพระวรกายเพราะถูกปล่อยให้ประทับอยู่ตามลำพังหลายครั้ง จึงมีพระดำรัสรับสั่งให้ภิกษุสงฆ์เลือกสรรภิกษุทำหน้าที่ปฏิบัติพระองค์เป็นประจำ ภิกษุทั้งหลายมีฉันทามติมอบหมายให้พระอานนท์เถระ รับหน้าที่เป็นพุทธอุปัฏฐากตลอดกาลเป็นนิตย์ ด้วยเห็นว่าท่านเป็นผู้มีสติปัญญา ขยัน อดทน รอบคอบ และเป็นพระญาติใกล้ชิด ย่อมจะทราบพระอัธยาศัยเป็นอย่างดีแต่ก่อนที่พระเถระจะตอบรับทำหน้าที่เป็นพุทธอุปัฏฐากนั้น

ท่านได้กราบทูลขอพร ๘ ประการ จากพระบรมศาสดา ดังนี้:-

๑ ขออย่าประทานจีวรอันประณีตแก่ข้าพระองค์
๒ ขออย่าประทานบิณฑบาตอันประณีตแก่ข้าพระองค์
๓ ขอได้โปรดอย่าให้ข้าพระองค์อยู่ในที่ประทับของพระองค์
๔ ขอได้โปรดอย่าพาข้าพระองค์ไปในที่นิมนต์
๕ ขอพระองค์จงเสด็จไปสู่ที่นิมนต์ ที่ข้าพระองค์รับไว้
๖ ขอให้ข้าพระองค์พาบริษัทที่มาจากแดนไกลเข้าเฝ้าพระองค์ได้ในขณะที่มาถึงแล้ว
๗ ถ้าข้าพระองค์เกิดความสงสัยขึ้นเมื่อใดขอให้ข้าพระองค์เข้าเฝ้าทูลถามความสงสัยได้เมื่อนั้น
๘ ถ้าพระองค์แสดงพระธรรมเทศนาเรื่องใด ในที่ลับหลังข้าพระองค์ขอได้โปรดตรัสพระธรรมเทศนาเรื่องนั้น แก่ข้าพระองค์อีกครั้ง

พระบรมศาสดา ได้สดับคำกราบทูลขอพรของพระอานนท์เถระแล้ว ได้ตรัสถามถึงคุณและโทษของพร ๘ ประการว่า:-
“ดูก่อนอานนท์ เธอเห็นคุณและโทษอย่างไร จึงขออย่างนั้น ?”
“ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ถ้าข้าพระองค์ไม่ได้รับพรข้อที่ ๑-๔ ข้างต้น ก็จะมีคนพูดติฉินนินทา ได้ว่า พระอานนท์ ปฏิบัติบำรุงอุปัฏฐากพระบรมศาสดา จึงได้ลาภสักการะมากมายอย่างนี้ การปฏิบัติอุปัฏฐากมิได้หนักหนาอะไรเลย และถ้าข้าพระองค์ไม่ได้รับพรข้อที่ ๕-๗ ก็จะมีคนพูดได้อีกว่าพระอานนท์ จะบำรุงอุปัฏฐากพระบรมศาสดาไปทำไม แม้กิจเพียงเท่านี้ พระพุทธองค์ก็ไม่ทรงอนุเคราะห์ อนึ่ง โดยเฉพาะถ้าข้าพระองค์ไม่ได้รับพรข้อสุดท้ายแล้ว หากมีผู้มาถามข้าพระองค์ว่า ธรรมข้อนี้พระพุทธองค์ทรงแสดงที่ไหน ถ้าข้าพระองค์ไม่ทราบ เขาก็จะตำหนิได้ว่าพระอานนท์ติดตามพระบรมศาสดาไปทุกหนแห่ง ดุจเงาตามพระองค์ แต่เหตุไฉนจึงไม่รู้แม้แต่เรื่องเพียงเท่านี้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เห็นคุณและโทษ ดังกล่าวมานี้ จึงได้กราบทูลขอพรทั้ง ๘ ประการนั้น พระเจ้าข้า”

พระบรมศาสดา เมื่อได้สดับคำชี้แจงของพระอานนท์แล้ว จึงประทานสาธุการ และพระราชทานอนุญาตให้ตามที่ขอทุกประการตั้งแต่นั้นมา ท่านพระอานนท์ได้รับตำแหน่ง ท่านก็ได้อุปัฏฐากพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยดี กิจที่ท่านทำเป็นประจำแก่พระพุทธเจ้า คือ ถวายน้ำ 2 อย่าง คือ น้ำเย็นและน้ำร้อน ถวายไม้สีฟัน 3 ขนาด นวดพระหัตถ์และพระบาท นวดพระปฤษฏางค์ ปัดกวาดพระคันธกุฏี และบริเวณพระคันธกุฏี ในตอนกลางคืนท่านกำหนดเวลาได้ว่า เวลานี้พระพุทธองค์ทรงต้องการอย่างนั้นอย่างนี้แล้วเข้าเฝ้า เมื่อเฝ้าเสร็จก็ออกมาอยู่ยาม ณ ภายนอกพระคันธกุฏี ในคืนหนึ่ง ๆ ท่านถือประทีปด้ามใหญ่เวียนรอบบริเวณพระคันธกุฏีถึง 8 ครั้ง ท่านคิดว่าหากท่านง่วงนอน เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสเรียกท่านจะไม่สามารถขานรับได้ ฉะนั้น จึงไม่ยอมวางประทีปตลอดทั้งคืน

พระอานนท์นั้นเป็นผู้มีความจงรักภักดีต่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นอย่างยิ่ง ท่านยอมสละชีพของท่านเพื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ อย่างเช่น เมื่อพระเทวทัตได้วางอุบายจะปลงพระชนม์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยมอมเหล้าช้างนาฬาคิรี ซึ่งกำลังตกมัน แล้วปล่อยออกไปในขณะที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จออกบิณฑบาต โดยมีพระอานนท์เป็นปัจฉาสมณะ เมื่อช้างนาฬาคิรีวิ่งเข้ามาทางพระพุทธองค์ พระอานนท์จึงได้เดินล้ำมาเบื้องหน้าพระศาสดา ด้วยคิดหมายจะเอาองค์ป้องกันสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้มีพระพุทธดำรัสให้พระอานนท์หลีกไป อย่าป้องกันพระองค์เลย แต่พระอานนท์ได้กราบทูลว่า

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ชีวิตของพระองค์มีค่ายิ่งนัก พระองค์อยู่เพื่อเป็นประโยชน์แก่โลก เป็นดวงประทีปของโลก เป็นที่พึ่งของโลก ของพระองค์อย่าเสี่ยงกับอันตรายครั้งนี้เลย ชีวิตของข้าพระองค์มีค่าน้อย ขอให้ข้าพระองค์ได้สละสิ่งซึ่งมีค่าน้อยเพื่อรักษาสิ่งที่มีค่ามาก เหมือนสละกระเบื้อง เพื่อรักษาซึ่งแก้วมณีเถิดพระเจ้าข้าฯ”

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสว่า

“อย่าเลยอานนท์ บารมีเราได้สร้างมาดีแล้ว ไม่มีใครสามารถปลงชีวิตของตถาคตได้ ไม่ว่าสัตว์ดิรัจฉานหรือมนุษย์หรือเทวดามารพรหมใด ๆ”

ในขณะนั้นช้างนาฬาคิรีวิ่งมาจนจะถึงพระองค์ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว พระองค์จึงได้แผ่พระเมตตาจากพระหฤทัย ซึ่งไปกระทบกับใจอันคลุกอยู่ด้วยความมึนเมาของช้างนาฬาคิรีได้ ช้างใหญ่หยุดชะงัก ใจสงบลงและหมอบลงแทบพระบาท พระพุทธองค์ทรงใช้พระหัตถ์ลูบที่ศีรษะพญาช้าง พร้อมกับตรัสว่า

“นาฬาคิรีเอ๋ย เธอกำเนิดเป็นดิรัจฉานในชาตินี้ เพราะกรรมอันไม่ดีของเธอในชาติก่อนแต่งให้ เธออย่าประกอบกรรมหนัก คือทำร้ายพระพุทธเจ้าเช่นเราอีกเลย เพราะจะมีผลเป็นทุกข์แก่เธอตลอดกาลนาน”
ช้างนาฬาคิรีน้ำตาไหลพราก น้อมรับฟังพระพุทธดำรัสด้วยอาการดุษฎี

พระอานนท์เถระ ได้ปฏิบัติพระพุทธองค์อย่างใกล้ชิด มิได้ประมาทพลาดพลั้ง ได้ฟังพระธรรมเทศนาทั้งที่ทรงแสดงแก่ตนและผู้อื่น ทั้งที่แสดงต่อหน้าและลับหลัง อีกทั้งท่านเป็นผู้มีสติปัญญาทรงจำไว้ได้มาก จึงเป็นผู้ฉลาดในการแสดงธรรม พระบรมศาสดาทรงยกย่องท่านในตำแหน่งเอตทัคคะเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งปวงถึง ๕ ประการ คือ เป็นพหูสูต เป็นผู้มีสติ เป็นผู้มีคติ เป็นผู้มีความเพียร และเป็นพุทธอุปัฏฐาก

ในกาลที่พระพุทธองค์ใกล้ปรินิพพาน พระอานนท์เถระมีความน้อยเนื้อต่ำใจที่ตนยังเป็นพระโสดาบันอยู่ อีกทั้งพระบรมศาสดาบรมครูก็จะเสด็จเข้าสู่พระปรินิพพานในอีกไม่ช้า จึงหลีกออกไปยืนร้องไห้แต่เพียงผู้เดียวข้างนอก พระพุทธองค์รับสั่งให้ภิกษุไปเรียกเธอมาแล้ว ตรัสเตือนให้เธอคลายทุกข์โทมนัสพร้อมทั้งตรัสพยากรณ์ว่า....

“อานนท์ เธอจะได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ในวันทำปฐมสังคายนา”

เมื่อพระบรมศาสดาปรินิพพานแล้ว พระมหากัสสปเถระได้นัดประชุมพระอรหันต์ขีณาสพ จำนวน ๕๐๐ องค์ เพื่อทำปฐมสังคายนา โดยมอบให้พระอานนท์รับหน้าที่วิสัชนาพระสูตรและพระอภิธรรม แต่เนื่องจากพระอานนท์ยังเป็นพระโสดาบันอยู่ ท่านจึงเร่งทำความเพียรอย่างหนักแต่ก็ยังไม่สำเร็จจนเกิดความอ่อนเพลีย ท่านจึงปรารภที่จะพักผ่อนอิริยาบถสักครู่ จึงเอนกายลงบนเตียง ในขณะที่เท้าพ้นจากพื้น ศีรษะกำลังจะถึงหมอน ท่านก็สำเร็จเป็นพะอรหันต์ในระหว่างอิริยาบถทั้ง ๔ คือ ไม่ได้อยู่ในอิริยาบถอย่างใดอย่างหนึ่งทั้ง ๔ อย่าง คือ อิริยาบถยืน เดิน นั่ง หรือนอน นับว่าท่านบรรลุเป็นพระอรหันต์แปลกกว่าพระเถระรูปอื่น ๆ

พระอานนท์เถระ ดำรงอายุสังขารอยู่นานถึง ๑๒๐ ปี พิจารณาเห็นว่าสมควรที่จะปรินิพพานได้แล้ว ท่านจึงเชิญญาติทั้งฝ่ายศากยะและฝ่ายโกลิยะ ไปที่ริมฝั่งแม่น้ำโรหิณี ซึ่งกั้นเขตแดนระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์ และกรุงเทวทหะ ก่อนที่จะปรินิพพาน ท่านเหาะขึ้นไปบนอากาศได้แสดงธรรมสั่งสอนเทวดาและพระประยูรญาติทั้งสองฝ่าย ตลอดทั้งพุทธบริษัทอื่น ๆ เมื่อจบพระธรรมเทศนาแล้วท่านได้ตั้งสัตยาธิษฐานว่า....

“เมื่ออาตมานิพพานแล้ว ขอให้อัฐิธาตุของอาตมานี้จงแยกออกเป็น ๒ ส่วน จงตกลงที่ฝั่งกรุงกบิลพัสดุ์ ของพระประยูรญาติฝ่ายศากยวงศ์ ส่วนหนึ่ง และจงตกที่ฝังกรุงเทวทหะของพระประยูรญาติฝ่ายโกลิยวงศ์ส่วนหนึ่ง เพื่อป้องกันมิให้พระประยูรญาติทั้งสองฝ่ายทะเลาะวิวาทกันเพราะแย่งอัฐิธาตุ”

ครั้นอธิษฐานเสร็จแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ณ เบื้องบนอากาศ ในท่ามกลางแม่น้ำโรหิณี เตโชธาตุก็เกิดขึ้น เผาสรีระของท่านเหลือแต่กระดูกและแยกออกเป็น ๒ ส่วน แล้วตกลงบนพื้นดินของ ๒ ฝั่งแม่น้ำโรหิณีนั้นสมดังที่ท่านอธิษฐานไว้ทุกประการ



พระธาตุของพระอานนท์เถระ
สัณฐานดั่งใบบัวเผื่อน พรรณดำดั่งน้ำรัก หรือสีขาวสะอาดดั่งสีเงิน
กราบ กราบ กราบ